คงพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำเลยละว่ายุคนี้เป็นยุคของการแสวงหาความสุขจากการบริโภค โดยเฉพาะความสุขจากการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะการที่กินแบบที่เรีบกว่า 'บุฟเฟต์' (Buffet) นั้นถือว่าได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่เป็นช่องทางเลือกรับอรรถรสแบบไม่อั้น ทั้งผู้บริโภคยังเองก็สามารถคัดสรรอาหารได้อย่างพึงพอใจ
จนดููเหมือนว่าพฤติกรรมการกินเพื่อดำรงอยู่ในยุคเก่าก่อนได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการอยู่เพื่อละเลียดรสอันโอชะจากสารพัดเมนูบุฟเฟต์ที่รวบรวมมาจากทั่วโลกแทน
ในประเทศไทยเอง ก็มีอาหารบุฟเฟต์ให้เลือกอิ่มอร่อยตั้งแต่หลักร้อยไปยันหลักพันหรือกระทั่งหลักหมื่น อย่างที่ราคาย่อมเยาว์หน่อยก็พวกหมูกะทะบุฟเฟต์ หรือปรับขึ้นมาอีกนิดก็พวกบุฟเฟต์เค้ก บุฟเฟต์ไอศกรีม หรือแพงขึ้นมาอีกหน่อยก็บุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น บุฟเฟต์อาหารเกาหลี ที่มีให้เลือกหลากหลายสไตล์ทั้งปิ้ง ย่าง ชาบูชาบู ฯลฯ ไปจนกระทั่งระดับไฮเอนด์อย่างพวกบุฟเฟต์นานาชาติที่เป็นเหมือนสวนสวรรค์ของผู้ที่หลงไหลในรสชาติแห่งอาหาร เหล่านี้เองก็เสมือนเป็นตัวการันตีว่า บุฟเฟต์ได้เข้ามาเป็นวัฒนธรรมการบริโภคของกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสัมคมไทยไปแล้ว
สำหรับคำจำกัดความของบุฟเฟต์นั้นโดยทั่วไป หมายถึงการซื้อสินค้าหรือบริการที่ผู้ซื้อจ่ายในราคาคงที่และสามารถบริโภคได้อย่างไม่จำกัดจำนวน ซึ่งตรงนี้ก็ส่งผลถึงวิธีคิดของผู้บริโภคที่ว่าการที่จะได้รับความคุ้มค่าจากการรับประทานบุฟเฟต์คือต้องบริโภคให้ได้ปริมาณมากที่สุด
บุฟเฟต์...อิ่มนี้ไม่มีกั๊ก 
ความสุขจากการกินไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อร่างกายรู้สึกอิ่มท้อง แต่เกิดจากหัวใจได้ละเลียดรสชาติอันแสนอร่อยจากเมนูที่ถูกคัดเลือกมาอย่างพิถีพิถัน ก็คงบอกได้เต็มปากเลยว่าการได้กินอาหารอร่อยๆ นั้นถือเป็นการให้รางวัลชีวิต ยิ่งอาหารที่อร่อยถูกปากเป็นรูปแบบบุฟเฟต์ก็เรียกกว่าเป็นความสุขทวีคุณเลย
ผู้หลงรักบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นอย่าง ตรีรัตน์ อุดมธรรมศิริ พนักงานเอกชน เปิดใจพร้อมเผยทริกเด็ดแบบเฉพาะตัวว่าตนและเพื่อนๆ ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นเป็นพิเศษ ซึ่งจะรวมแก๊งค์ไปกินบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นประมาณ 3 - 4 ครั้ง/เดือน 
“ชอบอาหารญี่ปุ่น เป้าหมายจริงๆ นอกจากไปกินก็ไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ เพราะว่าเพื่อนๆ ชอบไปกินด้วย คือก่อนไปเนี่ยก็ไม่ต้องกินข้าวเพราะว่าจะไปกินให้มันคุ้ม พอรู้สึกอิ่มก็หยุดสักพักหรือไม่ก็กินน้ำชาเพราะว่าจะสามารถทำให้เรากินได้อีก แต่ไม่เคยกินเหลือนะ เรามีความรับผิดชอบต่อตัวเอง หยิบอะไรมาก็กินส่นของตัวเองจนหมด”
เช่นเดียวกับ ศิรวิทย์ ขจัดภัย นักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ชื่นชอบในการกินบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น เพราะว่ารู้สึกติดใจในรสชาติอาหารแดนปลาดิบ อีกอย่างด้วยความที่เป็นคนกินเยอะ การกินบุฟเฟต์โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่นที่มีราคาค่อนข้างแพง จ่ายราคาเดียวแต่กินได้ไม่อั้น ได้เลือกของดี ของอร่อย จึงรู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป
“ผมกินเรื่อยๆ คิดจะอยากกินเมื่อไหร่ก็ชวนแฟนไปกินเลย ไม่ได้มีการเตรียมตัวอะไรหรอกกินจนรู้สึกว่าอิ่มจนกินต่อไม่ได้แล้วก็ออก ผมมองว่าการได้กินอาหารที่เราชอบ ถูกปาก อร่อยๆ มันเป็นรางวัลชีวิต ยิ่งราคาไม่แพง จ่ายแบบบุฟเฟต์ กินไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพอใจก็โอเคเลยครับ”
สำรวจวัฒนธรรมการกินบุฟเฟต์
ก่อนที่อาหารบุฟเฟต์จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายอย่างในปัจจุบันนั้น เชฟสุริยันต์ ศรีอำไพ อุปนายกสมาคมพ่อครัวไทย ได้เล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของอาหารสไตล์นี้ว่า บุฟเฟต์นั้นมีวิวัฒนาการมาจากแถบยุโรป แต่เดิมนั้นนิยมกันในงานจัดเลี้ยง เพราะว่ามันสามารถเลือกรับประทานได้ แต่เป็นบุฟเฟต์สามารถเลือกได้ตามชอบใจ กระทั่งเริ่มแพร่หลายสู่อาหารตามโรงแรมและร้านอาหารทั่วไป 
ผู้คร่ำควอดทางด้านอาหารกล่าวว่า ในต่างประเทศนั้นเขามีวัฒนธรรมการกินบุฟเฟต์ที่เป็นบรรทัดฐานที่ทุกคนถือปฎิบัติกัน ซึ่งกลับมาประเทศไทยแล้วพฤติกรรมการบริโภคบุฟเฟต์นั้นยังต่างอยู่ไม่น้อย
“ต่างชาติถูกฝึกมาเลยว่าการกินบุฟเฟต์ต้องค่อยๆ กิน และกินได้หลายๆ อย่าง แต่คนไทยตักเฉพาะอย่างที่ชอบ มาถึงปุ๊บอะไรใกล้มือก็ตักไว้ก่อน กว่าจะครบไลน์บุฟเฟต์เนี้ย มันก็เต็มจานไปหมด จนอย่างอื่นก็กินไม่เข้าแล้ว ขอให้กินให้อิ่มไว้ก่อนกลัวขาดทุน คนไทยก็คิดอย่างเดียวถ้าไปใช้บริการแล้วต้องไม่ขาดทุน แต่ฝรั่งเขาไม่ เขาเริ่มจากการเดินรอบหรือสองรอบก่อน เพื่อมั่นใจว่าเดี๋ยวจะมากินอะไรบ้าง แล้วอะไรที่จะไม่กิน เพราะฉะนั้นฝรั่งชิม ถ้าอร่อยไปเพิ่มอีก ไม่อร่อยหากินอย่างอื่นไปเรื่อยๆ ได้อรรถรสในการกินจริงๆ เป็นวัฒนธรรมที่สั่งสมสอนกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว เกือบๆ ทุกชนชั้น คนของเขามีการเรียนรู้ในเรื่องการศึกษา จึงเป็นวัฒนธรรมที่ดี มีระเบียบ มีระบบ มากกว่าของเรา”
การกินบุฟเฟต์ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อความอิ่มอร่อยหรือคุ้มค่าเพียงอย่างเดียว ซึ่งต่างชาติเองบางครั้งก็มีนัย ที่ต้องการไปนั่งคุยกันได้นานๆ เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจหรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งบุฟเฟต์จะนั่งได้ตลอดยาวจึงได้รับความนิยม 
อย่างไรก็ตาม เชฟสุริยันต์ กล่าวว่า การกินอาหารบุฟเฟต์นั้น คนที่ตั้งใจจะไปกินย่อมตั้งใจไว้แล้วว่าจะกินให้คุ้ม แน่นอนมันอาจเกิดอุปนิสัยถาวรส่งผลให้เวลากินอะไรอยากจะกินมากๆ ซึ่งปริมาณอาหารที่เข้าไปสะสมในร่างกายก็อาจก่อเกิดโทษได้เหมือนกัน 
“อาหารบุฟเฟต์ถ้าเป็นคนที่ทานพอประมาณ ทานเก่ง ทานบุฟเฟต์ดีได้กำไร เพราะว่าสามารถทานอาหารได้ครบในทุกอย่างที่เราอยากกิน แต่ที่สำคัญที่สุดคืออย่าขี้เกียจเดิน ก่อนกินต้องเดินสำรวจให้ทั่วก่อนว่าอะไรหมายตาว่าอยากกิน จะได้รู้ว่าอะไรที่อร่อยสมบูรณ์แบบที่สุด”
สู่ความเป็นจริงเชิงเศรฐศาสตร์
จะเห็นว่า ผู้บริโภคที่เลือกรับประทานอาหารบุฟเฟต์จำนวนไม่น้อย มักจะทิ้งซากอาหารไว้ในจาน หรือยิ่งไปกว่านั้นอาจหมกเม็ดเศษอาหารตามหลืบตามซอกที่พอจะหลบซ่อนเพื่อไม่ให้เสียค่าปรับได้ ตรงนี้เองก็ถือเป็นปัญหาพฤติกรรมการบริโภคบุฟเฟต์ที่แก้ไม่ตกเลยก็ว่าได้ กลายๆ ว่าในเชิงเศรฐศาสตร์นั้นถือเป็นความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ
จากบทความเรื่องBuffet Management การรับประทานบุฟเฟต์อย่างมีวัฒนธรรม เขียนโดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ได้วิเคราะห์ไว้ว่า โดยส่วนใหญ่ผู้ให้บริการก็จะคิดราคาบุฟเฟต์ในมูลค่าที่สูงเพียงพอจะให้เกิดความคุ้มค่าสำหรับการลงทุน ผู้บริโภคที่สามารถจะกินจนคุ้มค่าได้นั้น จึงมักจะกินมากจนเกินไป ซึ่งบ่อยครั้งนำมาสู่การตักอาหารเกินความต้องการ จนกระทั่งเหลืออยู่บนโต๊ะจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ให้บริการแล้ว ยังถือเป็นความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจที่ไม่มีผู้ใดได้ประโยชน์ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายเสียประโยชน์ด้วยซ้ำ เพราะทรัพยากรของโลกที่มีอยู่อย่างจำกัด 
ในส่วนมาตรการที่ทางผู้ให้บริการนำมาจัดการอย่างเรื่องเพิ่มราคาบุฟเฟต์เพื่อชดเชยส่วนที่ทานเหลือ หรือการปรับเงินนั้น ก็ดูจะเป็นมาตรการสูญเปล่าที่ไม่สามารถจัดการปัญหาตรงนี้ได้ แบ๊งค์ เสนอแนวคิดนวัตกรรมการจัดการ (Innovative management) ที่ผนวกแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์ และ จิตวิทยาเข้ามาช่วยออกแบบมาตรการที่เหมาะสมในการจัดการปัญหาความสูญเสียทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน
ซึ่งร้านอาหารบุฟเฟต์อาจประกาศมาตรการบริจาคเงิน หรืออาหารเพื่อเด็กด้อยโอกาสและขาดอาหารที่เพียงพอแก่การเจริญเติบโต ซึ่งตัวเลขทางสถิติชี้ว่ามีสูงถึงราว 1/3 ของโลก การบริจาคที่ว่านี้จะบริจาคก็ต่อเมื่อผู้บริโภคทานอาหารหมดโดยไม่เหลือ โดยพนักงานจะเป็นผู้ประเมินด้วยวิจารณญาณ ยิ่งจำนวนหัวที่มาทานบุฟเฟต์ในโต๊ะมีมากเท่าไหร่ เงินบริจาคก็จะสูงมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าถูกประเมินว่าทานเหลือ เงินบริจาคก็จะหายไปทั้งก้อนเลย เพื่อให้เกิดการเตือนกันเองในโต๊ะเมื่อมีคนตักมากจนเกินไป (Collective monitoring)
แบ๊งค์ แสดงทัศนะทิ้งท้ายไว้ว่า นัยนี้ผู้ขายได้พลิกบทบาทจากผู้ตรวจสอบเพื่อทำโทษ มาเป็นผู้บริจาคที่ใจดี โดยมีผู้บริโภคเป็นคนตัดสินว่าจะให้มีการบริจาคหรือไม่ หากทานเหลือก็จะกลายเป็นว่าผู้บริโภคตัดสินใจที่จะไม่บริจาคซึ่งก็จะส่งผลทางจิตวิทยาให้ผู้บริโภครู้สึกผิดในสิ่งที่คนเองทำลงไปและทานอาหารเหลือน้อยลง มาตรการนี้จะช่วยทำให้สังคมในภาพรวมดีขึ้นทั้งหมด (Better off) เพราะ ผู้ขายประหยัดต้นทุนจากการที่ลูกค้าทานเหลือน้อยลง กำไรจึงสูงขึ้น เด็กด้อยโอกาสและคนขาดอาหารได้รับการบริจาคช่วยเหลือ และ ผู้บริโภคเองก็ยังอิ่มได้เท่าเดิม แต่ทานเหลือน้อยลง
การแสวงหาความสุขจากการกินนั้นอาจเกิดขึ้นง่ายๆ แต่การเผาผลาญความสุขจากสารพัดเมนูบุฟเฟ่ต์ที่ดื่มด่ำเข้าไป ให้ออกจากร่างกายนั้นอาจทำได้ไม่ง่ายดายนัก กระแสบริโภคบุฟเฟต์ที่กำลังได้รับนิยมอยู่ในปัจจุบันถึงจะได้เพลิดเพลินกับอรรถรสอาหารเพียงใด แต่เมื่อข้ามขอบข่ายของความพอดีร่างกายก็คงตกอยู่ในสภาวะพะอืดพะอมและส่งผลต่อสุขภาพอย่างแน่นอน


                                  อ้างอิง https://mgronline.com/live/detail/9550000010027